5 เทคนิคแนะนำ ให้นักเรียนได้รับทุนอย่างทั่วถึง
Card image cap

ดาวน์โหลดได้ที่ https://bit.ly/3jPV1of

แม้ว่าทุนการศึกษาภายในประเทศมีอยู่มาก แต่ยังคงมีนักเรียนจำนวนหนึ่งที่พลาดทุนการศึกษานั้น ๆ ไป เนื่องด้วยปัจจัยด้านเกณฑ์การรับสมัคร การพิจารณาคัดเลือก รวมถึงความพร้อมของตัวผู้สมัคร ดังนั้น เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงทุนการศึกษาอื่น ๆ นอกเหนือทุนของ กสศ. แอดมินฯ เลยขอรวบรวมเทคนิคจากวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของครูในโครงการฯ จากงานส่องทางทุน: The meeting ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา มาเล่าสู่กันฟังค่ะ

1. ทำความรู้จักนักเรียน

คุณครูส่วนใหญ่ จะเป็นผู้ที่รู้จักนักเรียนของตนในเบื้องต้นจากการเรียนการสอนภายในห้องเรียน การรับฟัง สอบถาม ชวนพูดคุย รวมทั้งการเยี่ยมบ้าน และสัมผัสชีวิตของนักเรียนนั้น มีส่วนช่วยเป็นอย่างมากในการทำความรู้จักและเข้าใจนักเรียนของครู

  • การรับฟัง สอบถาม และพูดคุย: คุณครูสามารถเข้าไปสอบถาม ชวนนักเรียนพูดคุยและเปิดใจรับฟังนักเรียนในประเด็นต่าง ๆ เพื่อเป็นการทำความรู้จักนักเรียนให้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งเป็นการสร้างพื้นที่ปลอดภัยร่วมกันระหว่างคุณครูและนักเรียน เกิดความรู้สึกสบายใจในการแลกเปลี่ยนแบ่งปันเรื่องราวต่อกัน
  • การเยี่ยมบ้าน สัมผัสชีวิต: การไปเยี่ยมบ้านบ่อยครั้ง เป็นการเข้าถึงความเป็นอยู่ สภาพปัญหา อุปนิสัยใจคอของนักเรียน รวมทั้งเป็นการทำความรู้จักและพบปะกับผู้ปกครองนักเรียน เพื่อให้สามารถเข้าใจบริบทของครอบครัวและนักเรียน

2. ศึกษาแหล่งทุน

การศึกษาแหล่งทุนการศึกษานั้น นอกจากจะต้องรู้แล้วว่า มีแหล่งทุนจากหน่วยงานหรือองค์กรไหนบ้างแล้วนั้น ยังต้องคำนึงถึงความเหมาะสมของนักเรียน เพื่อให้การขอทุนมีประสิทธิภาพมากที่สุด

  • การติดตามข้อมูลทุนการศึกษาอยู่เสมอ: การติดตามข้อมูลทุนอย่างสม่ำเสมอ ว่ามีแหล่งทุนจากที่ไหนบ้าง มีทุนระดับใด เปิดรับสมัครช่วงไหนในแต่ละช่วงปีนั้น ๆ เพื่อให้คุณครูและนักเรียนมีเวลาเตรียมตัวในการดำเนินขอรับทุน
  • การขอรับทุนการศึกษาให้เหมาะสมกับนักเรียน: เพื่อให้การขอรับทุนมีประสิทธิภาพมากที่สุด คุณครูต้องคำนึงถึงนักเรียนที่เหมาะสมตามเกณฑ์และคุณสมบัติของทุน รวมไปถึงความชอบและความสนใจของนักเรียน ซึ่งคุณครูจะรู้ว่านักเรียนเหมาะสมกับทุนการศึกษาใดนั้น เกิดจากการที่คุณครูได้ทำความรู้จักนักเรียน ทำให้สามารถรู้ว่านักเรียนคนไหนเป็นอย่างไร มีความสามารถและความสนใจด้านไหน รวมทั้งคุณลักษณะเฉพาะที่ตรงตามข้อกำหนดของทุน
  • การแนะนำทุนการศึกษาที่เป็นไปได้: การแนะนำแหล่งทุนการศึกษาที่ตรงกับความสนใจของนักเรียนโดยเฉพาะ โดยศึกษาแหล่งทุนที่สนับสนุนทุนที่ตรงกับความชอบ ความสนใจ และความต้องการโดยตรงของนักเรียน และสนับสนุนในการขอรับทุน รวมทั้งทักษะที่จำเป็นต้องพัฒนาต่อการขอรับทุน

3. เตรียมความพร้อม

การขอทุนการศึกษาของนักเรียนนั้น การเตรียมความพร้อมของนักเรียน นับว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ซึ่งมีนักเรียนจำนวนไม่น้อย ที่พลาดโอกาสในการรับทุน เพราะตกหล่นในรายละเอียด

  • เอกสารละเอียดครบถ้วน: : มีเอกสารมากมายที่จำเป็นต้องใช้สำหรับการขอรับทุน การเตรียมเอกสารให้พร้อมจึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญมาก ที่จำเป็นต้องทำการตรวจสอบให้ถูกต้องครบถ้วน มีนักเรียนไม่น้อยที่พลาดโอกาสในการรับทุนเนื่องจากติดปัญหาด้านเอกสาร
  • เขียนเรียงความได้ตอบโจทย์: การขอรับทุนการศึกษา บางหน่วยงานมีข้อกำหนดในการเขียนเรียงความเพื่อขอรับทุน การสามารถเขียนเรียงความถ่ายทอดเรื่องราวได้ตอบโจทย์ สะท้อนเรื่องราวตามจริง ลำดับเหตุการณ์ได้น่าติดตาม เป็นอีกหนึ่งทักษะสำคัญ ที่ช่วยให้มีโอกาสในการพิจารณารับทุนมากยิ่งขึ้น
  • หากเปเปอร์ผ่าน รอบสัมภาษณ์ก็ต้องพร้อม: หลังจากการยื่นเรื่องเอกสารและเรียงความเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนสุดท้ายนั้น ก็คือการสัมภาษณ์ โดยการเตรียมตัวสัมภาษณ์ เป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อให้เกิดความมั่นใจในการสื่อสาร ลดอาการประหม่าเมื่อถึงเวลาที่ต้องเผชิญหน้ากับคณะกรรมการในช่วงเวลาการสัมภาษณ์

เพื่อให้สามารถถ่ายทอดทั้งด้านการเขียนเรียงความและการเตรียมตัวสัมภาษณ์ได้ดีมากยิ่งขึ้น คุณครูสามารถเข้าไปศึกษาเทคนิคเหล่านี้ได้จากเว็บไซต์ หรือ เฟซบุ๊กกรุ๊ป “ส่องทางทุน by กสศ.” ในการนำมาปรับใช้กับนักเรียนของครูได้ค่ะ

4. ทำทะเบียนทุนนักเรียน

การทำทะเบียนทุนนักเรียน คือ การรวบรวมข้อมูลนักเรียนที่เคยและไม่เคยได้รับทุน เพื่อใช้ในการกระจายทุนให้กับนักเรียนได้อย่างทั่วถึง รวมทั้งสามารถเป็นฐานข้อมูลในการติดตามเรื่องทุนของนักเรียน

  • รวบรวมข้อมูลนักเรียนที่เคยและไม่เคยได้รับทุน: การเก็บรวบรวมข้อมูลของนักเรียนที่เคยได้รับทุนการศึกษาแล้ว เพื่อเป็นการกระจายทุนให้แก่นักเรียนที่ไม่เคยได้รับทุนการศึกษานั้น ๆ มาก่อน เพื่อช่วยส่งเสริมและกระจายโอกาสให้นักเรียนคนอื่น ๆ ได้อย่างครอบคลุม
  • ใช้เป็นฐานข้อมูลติดตามเรื่องทุนของนักเรียนได้ต่อเนื่อง: การจัดการข้อมูลอย่างเป็นระบบ เพื่อใช้สำหรับเป็นฐานข้อมูลในการติดตาม ช่วยเหลือ และใช้ในการพิจารณาขอรับทุนในครั้งถัดไปของนักเรียน

5. ประสานเครือข่าย

การประสานกับเครือข่ายผู้สนับสนุนทุนการศึกษาโดยตรง ถึงความต้องการความช่วยเหลือของเด็กนักเรียน เพื่อให้ได้รับการสนับสนุนทุนอย่างต่อเนื่อง

  • การประสานกับบุคคลที่เกี่ยวข้องภายในโรงเรียน: การประสานคุณครู บุคลากรทางการศึกษา ที่มีความใกล้ชิดกับเด็กนักเรียน รวมทั้งผู้มีความเข้าใจหรือรับผิดชอบโครงการขอทุนการศึกษา และการให้ข้อมูลแก่ผู้บริหารโรงเรียน เพื่อใช้ในการประชุมกับหน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนการศึกษา
  • การประสานหน่วยงานภายในพื้นที่: การประสานกับหน่วยงานในพื้นที่ที่รับผิดชอบ ที่มีบทบาทหน้าที่ในการอำนวยความสะดวกและสนับสนุนทุนการศึกษาให้แก่โรงเรียนภายในพื้นที่ เพื่อให้การขอรับทุนการศึกษาของนักเรียนมีความสม่ำเสมอมากยิ่งขึ้น

การสนับสนุนนักเรียนให้ได้รับทุนการศึกษาอย่างทั่วถึงนั้น ต้องอาศัยการเตรียมความพร้อมในหลาย ๆ ด้าน ทั้งการทำความรู้จักตัวนักเรียน การรู้จักแหล่งทุน การพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อการขอรับทุน การจัดการเอกสาร รวมทั้งการประสานเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีส่วนช่วยเป็นอย่างมากในการสนับสนุนนักเรียน เพื่อให้การสร้างเครือข่ายมีความแข็งแรงมากยิ่งขึ้น คุณครูสามารถติดตามอ่านบทความที่เกี่ยวข้องในเร็ว ๆ นี้ได้เลยนะคะ


คุณครูของ กสศ. ติดตามข้อมูลทุนการศึกษาอื่น ๆ นอกเหนือทุนของเราได้ที่

เฟซบุ๊กกรุ๊ป “ส่องทางทุน by กสศ.”